Home / Tips & Tricks / ข้อควรรู้ ประเภทความเป็นอันตรายของสารเคมี (GHS)

ข้อควรรู้ ประเภทความเป็นอันตรายของสารเคมี (GHS)

พฤศจิกายน 9, 2020
States Lubricant

ข้อควรรู้ ประเภทความเป็นอันตรายของสารเคมี

GHS คืออะไร

GHS ย่อจาก The Globally Harmonized System of Classification and Labeling of Chemicals ซึ่งเป็นระบบการจำแนกความเป็นอันตราย และการติดฉลากสารเคมีที่เป็นระบบเดียวกันทั่วโลกที่พัฒนาขึ้นโดยองค์การสหประชาชาติตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 ซึ่งมีวัตถุประสงค์ให้ทุกประเทศในโลกมีการจัดการสารเคมีที่เป็นระบบเพื่อการใช้สารเคมีอย่างปลอดภัย และไม่เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่ได้แสดงจุดยืนในการสนับสนุนการใช้ระบบ GHS และมีการเตรียมการในประเทศให้นำระบบ GHS มาใช้กับสารเคมี และผลิตภัณฑ์เคมีภายใต้พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535

องค์ประกอบสำคัญของระบบ GHS

1. การจำแนกความเป็นอันตราย (Classification) ระบบ GHS จำแนกสารเคมีและผลิตภัณฑ์เคมีตาม ความเป็นอันตรายของสารเคมีที่เป็น องค์ประกอบทั้งทางด้านกายภาพ สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม
2. การสื่อสารความเป็นอันตรายของสารเคมี ( Hazard Communication ) ระบบ GHS มีการสื่อสารความเป็นอันตรายของสารเคมีโดยผ่านสื่อต่างๆ ดังนี้

  • 2.1 รูปสัญลักษณ์แสดงความเป็นอันตราย (Pictograms) เพื่อสื่อความหมายของความเป็นอันตรายในแต่ละด้านและ แต่ละประเภทจำนวน 9 รูปสัญลักษณ
  • 2.2 คำสัญญาณ (Signal Words) ที่ใช้มี 2 คำสัญญาณคือ “อันตราย” และ “ระวัง” ขึ้นอยู่กับระดับความเป็นอันตรายของสารเคมีนั้น
  • 2.3 ข้อแสดงความเป็นอันตราย (Hazard Statements) เพื่ออธิบายลักษณะความเป็นอันตรายตามประเภทความ เป็นอันตรายที่จำแนกได้ ซึ่งจะเป็นข้อความสั้นๆกระชับ และง่ายต่อความเข้าใจ เช่นระเบิดได้เมื่อได้รับความร้อน ระคายเคืองต่อ ผิวหนัง และอาจก่อให้เกิดมะเร็ง รูปสัญลักษณ์แสดงความเป็นอันตราย คำสัญญาณ และข้อความแสดงความเป็นอันตรายจะปรากฏอยู่บนฉลาก (Label)

3. เอกสารข้อมูลความปลอดภัย (Safety Data Sheet, SDS) เอกสารข้อมูลความปลอดภัยคือเอกสารข้อมูลความปลอดภัยในการทำงานกับสารเคมี เป็นเอกสารสำคัญในการสื่อสารความเป็นอันตรายของสารเคมีหรือผลิตภัณฑ์เคมี โดยให้ข้อมูลเฉพาะเกี่ยวกับข้อมูลทางกายภาพ ความเป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัย และมาตรการเพื่อความปลอดภัยในการใช้ การเก็บรักษา การขนส่ง การกำจัด และการจัดการอื่นๆ เพื่อให้การปฏิบัติงาน และการจัดการสารเคมีเป็นไปอย่างถูกต้องปลอดภัย และสามารถตอบโต้เหตุฉุกเฉินกรณีเกิดอุบัติเหตุ หรือเกิดการรั่วไหลได้อย่างถูกต้อง และเหมาะสม ระบบ GHS กำหนดข้อมูลที่ต้องระบุในเอกสาร 16 หัวข้อ เพื่อให้เกิดความสอดคล้อง และเป็นระบบเดียวกันทั่วโลก

ข้อสรุปเกี่ยวกับระบบ GHS

การพัฒนาระบบการจำแนกประเภท และการติดฉลากสารเคมีที่เป็นสากลที่รู้จักกันในชื่อ GHS จะทำให้ทุกประเทศมีการใช้ระบบการจำแนกความเป็นอันตรายของสารเคมี และสื่อสารความเป็นอันตรายของสารเคมีที่เป็นมาตรฐานสากลในรูปของฉลากผลิตภัณฑ์ และเอกสารข้อมูลความปลอดภัยที่เป็นระบบเดียวกัน ดังนั้นในระดับประเทศ ระบบนี้จะสามารถทำให้มีการจำแนกสารเคมี และการจัดการสารเคมีที่เป็นระบบ รวมทั้งมีการสื่อสารเรื่องความเป็นอันตรายของสารเคมีมากขึ้น ทำให้มีความปลอดภัยต่อสุขภาพมนุษย์และสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตามสำหรับผู้ผลิตสารเคมีอันตรายจะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ เพราะต้องจำแนกประเภทสารเคมีตามระบบ GHS และนำมาสื่อสารในรูปของฉลากและเอกสารข้อมูลความปลอดภัย ขณะที่ภาคขนส่งจะได้รับผลกระทบไม่มาก เนื่องจาก GHS ให้ใช้ฉลากในการขนส่งเหมือนเดิม ส่วนผู้บริโภคน่าจะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบในทางที่ดี เนื่องจากการสื่อสารความเป็นอันตรายที่ชัดเจนก็จะทำให้เกิดความตระหนักถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นได้มากขึ้น ขณะที่การใช้ระบบ GHS ระหว่างประเทศจะทำให้ทุกประเทศสามารถทำความเข้าใจเรื่องสารเคมีได้ตรงกัน ส่งผลให้การค้าสารเคมีระหว่างประเทศมีความสะดวกมากขึ้น สามารถลดความซ้ำซ้อนในการทดสอบสารเคมี และสามารถเพิ่มระดับการป้องกัน อันตรายจากสารเคมีต่อสุขภาพมนุษย์และสิ่งแวดล้อม


Category: Tips & Tricks